ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงเคยเข้าโรงหนังตามศูนย์การค้าทั่วไปและน่าจะมีโอกาสซื้อขนม ป๊อบคอร์น หรือน้ำอัดลมหน้าโรงหนังกันมาบ้าง
เคยสังเกตมั้ยครับว่าคิดให้หัวแตกยังไง ค่าป๊อบคอร์นและน้ำอัดลมมันก็ไม่น่าที่จะแพงขนาดนั้น หรือแม้แต่เวลาที่เราไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆแล้วมีคนมาขายอาหารหรือของชำร่วยจนรู้สึกว่าเราเหมือนโดนเอาเปรียบโดนขู่กรรโชกทรัพย์ (rip-off) จากคนขายยังไงก็ไม่รู้
แต่จากทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์แล้วเขาบอกว่าจริงๆแล้วการถูกปอกลอกหรือค้ากำไรเกินควรแบบนี้ไม่มีจริง ราคาสินค้าไม่ว่าจะมีราคาเท่าไหร่ก็ตามก็คือราคาตลาดทั้งนั้นแหละ (market price) ซึ่งก็คือราคาที่ผู้จ่ายยอมที่จะจ่ายนั่นเอง ราคาตลาดก็เป็นแค่เพียงกลไลของตลาดระหว่างความต้องการ (demand) กับ สินค้าที่มีอยู่ (supply) เท่านั้น พ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งราคาสินค้าสูงๆก็เป็นเพียงแค่ผู้ที่พยายามดันราคาให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อที่จะให้ตัวเองได้กำไรสูงสุด (maximum profit) ซึ่งหากเขาตั้งราคามากเกินกว่าที่ผู้ซื้อพอใจจะจ่าย คนก็จะเลิกซื้อ แล้วพ่อค้าแม่ค้าก็ต้องลดราคาลงมาเองเพื่อให้ขายสินค้าได้ ดังนั้นแล้วตลาด (market place) ก็เป็นสถานที่ที่จะกำหนดราคาสินค้าเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สำหรับคนทั่วๆไป การที่เราเห็นสินค้ามีราคาที่สูงเกินพอดี เราก็จะรู้สึกว่าเราโดนเอาเปรียบ โดนหลอกล่อ ผู้ขายนั้นมีการโก่งราคา ผู้ขายเห็นแก่ตัว ไม่มีความจริงใจ ไม่มีความยุติธรรม ว่ากันไปต่างๆนานา ซึ่งในหลายๆกรณีก็อาจจะเป็นเรื่องที่จริงทางความรู้สึก
แต่การที่ผู้ขายต้องการขายสินค้าก็เพื่อจะต้องการทำกำไร (profit) เพราะหากขายสินค้าแล้วไม่ได้กำไร ก็คงจะไม่มีใครอยากจะขาย ในยุคแรกๆที่มีตลาดเกิดขึ้นนั้น ราคาสินค้าหรือว่าราคาตลาดที่เหมาะสม (just price) ก็จะถูกมองว่าเป็นราคาที่ผู้ขายได้รับกำไรที่เหมาะสม (decent profit) และเป็นราคาที่ผู้ซื้อเต็มใจจะจ่าย (โดยผู้ซื้อได้รับข้อมูลการตัดสินใจจากข้อมูลที่ครบถ้วนและเปิดเผย) อย่างไรก็ดี ผู้ขายก็ไม่ได้ถึงกับจำเป็นที่จะต้องแจ้งข้อมูลผู้ซื้อที่อาจจะทำให้สินค้ามีราคาที่อาจจะต่ำลงได้ในอนาคต
หากเราจะมองในยุคปัจจุบัน การจ่ายเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงก็เป็นตัวอย่างนึงที่บริษัทหลายๆบริษัทมีการจ่ายค่าตัวผู้บริหารกันสูงลิ่วจนน่าสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร โดยเฉพาะซีอีโอ (CEO) ซึ่งก็ยังคงมีการถกเถียงกันอย่างเรื่อยมาถึงความเหมาะสม ความสมควรของการจ่ายเงินเดือน โบนัส ผลประโยชน์ต่างๆในอัตราที่สูงมากๆให้กับ CEOs เหล่านี้ว่าควรมีการแทรกแซงราคาตลาดจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใดหรือไม่
หรือว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว ใครสามารถจ่ายได้ก็จ่าย พอใจจะจ่ายก็จ่าย ซึ่งก็ยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าถูกต้องหรือเหมาะสมที่จะแทรกแซงดีมั้ย
ราคาหุ้นก็เป็นอีกตัวอย่างของราคาธุรกิจนึงที่ต้องประเมินกันต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุดว่าราคาไหนกันแน่ที่เป็นราคาประเมินที่เหมาะสม (appraisal value) เมื่อเทียบกับราคาตลาดหรือมูลค่าตลาด (market capitalization) ของบริษัทนั้น เนื่องจากธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ราคาหุ้นก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามที่นักลงทุนในตลาดจะประเมินกันไป
อย่างเช่น ตัวอย่างนึงเมื่อสองวันที่แล้ว ในที่สุดหุ้นของแอปเปิ้ล (Apple) ก็สามารถทำมูลค่าตลาดที่ 1 ล้านล้านเหรียญจนได้ (1 trillion US dollars) ซึ่งก็เป็นบริษัทในตลาดหุ้นอเมริกาบริษัทแรกที่สามารถทำมูลค่าตลาดที่ระดับนี้ได้ อย่างนี้ก็ชวนให้น่าสงสัยว่านักลงทุน หรือ (ผู้ซื้อ) เนี่ยจะเต็มใจจะจ่ายกันที่ราคานี้และมีโอกาสสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆแค่ไหนกัน เพราะดูแล้วคาดว่าคงมีพ่อค้าแม่ค้า (ผู้ขาย) ที่รอขายหุ้นที่ตัวเองมีในราคาที่ตัวเองจะได้กำไรสูงสุดนั่นเอง
แต่อย่าลืมนะครับ แม้ว่าเราอาจจะบอกตัวเราเองว่าเราพอใจจะจ่ายสินค้านั้นสินค้านี้ในราคานั้นราคานี้ แล้วก็คิดไปว่าเหมาะสมแล้ว แต่การลงทุนในหุ้น การจ่ายราคาที่เหมาะสมก็คือราคาที่ธุรกิจนั้นไม่แพงจนเกินไปหรือมีราคาต่ำกว่ามูลค่าของธุรกิจในปัจจุบันก็จะเป็นการลดความเสี่ยงในกรณีที่เราคิดผิดได้เป็นอย่างดี
สำหรับนักลงทุนหรือนักเก็งกำไร ช่วงนี้ก็ยังคงจะผันผวนต่อเนื่อง เพราะสงครามการค้าของจีนกับอเมริกาก็คงดำเนินไปเรื่อยๆเช่นเคย ส่วนนักลงทุนระยะยาวแบบเราก็มองหาโอกาสที่ราคาหุ้นจะลงมาอยู่ในราคาที่น่าเหมาะสมกันต่อไปครับ
อ้างอิง:
https://www.cnbc.com/2018/08/02/apple-hits-1-trillion-in-market-value.html
Blenlit
Hakwarmroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.