จาก The Economist ฉบับ 6 เมษายน 2019 มีบทความหนึ่งได้พูดถึงเกี่ยวกับการออกพันธบัตร (Bond) ของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันของประเทศซาอุดิอาราเบีย
ในอดีตนั้น ไม่เคยมีการเปิดเผยว่าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของซาอุฯนี้มีรายได้และกำไรเท่าไหร่กันแน่ นักลงทุนก็ได้แต่สงสัยกันเรื่อยมา แต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาก็ได้มีการเปิดเผยว่า Saudi Aramco มีกำไรสุทธิ (net income) ในปี 2018 ถึง 111,000 ล้านเหรียญ!
(เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ในปี 2018 PTTEP หรือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ของไทยเรามีกำไรสุทธิประมาณ 1,120 ล้านเหรียญเท่านั้น)
ซึ่งกำไรสุทธิของ Saudi Aramco นี้ยังมากกว่าบริษัทน้ำมันระดับโลกอย่าง Shell, ExxonMobil, Chevron, Total และ BP รวมกันเสียอีก!
อย่างไรก็ดี วันนี้เราไม่ได้มาชื่นชมประเทศอื่นกัน สาเหตุที่มีการเปิดเผยตัวเลขนี้ก็เพราะว่า Saudi Aramco ต้องการจะออกพันธบัตร (Bond) เพื่อขายให้กับนักลงทุนโดยทั่วไปตามที่ว่าไว้ตอนขึ้นต้นนั่นเอง
แล้วพันธบัตร (Bond) คืออะไร?
พันธบัตรจะแสดงถึงสัญญาที่ผู้ออกพันธบัตร (borrower) มีข้อตกลงจะคืนเงินให้กับผู้ให้ยืมเงิน (lender) โดยเงินที่ผู้ออกพันธบัตรจะคืนให้กับผู้ให้ยืมนั้นจะมีเงินต้น (principal) รวมกับดอกเบี้ย (interest)
ภาษาทางการนั้นช่างงงวยเสียเหลือเกิน แปลก็ไม่รู้จะรู้เรื่องมั้ย ง่ายๆก็คือบริษัทจะขอกู้ยืมเงินจากประชาชนหรือนักลงทุนทั่วไปโดยที่บริษัทสัญญาว่าจะจ่ายเงินคืนให้พร้อมดอกเบี้ยด้วยการออกพันธบัตรให้เป็นหลักฐานเมื่อครบกำหนดเวลาชำระคืนนั่นแหละ!
พันธบัตรนั้นสามารถออกได้โดยรัฐบาล เทศบาลเมือง และบริษัทเอกชนต่างๆ โดยที่อัตราดอกเบี้ย (coupon rate) ยอดเงินต้นที่บริษัทขอกู้ยืม (principal) และวันกำหนดเวลาชำระคืน (maturity date) นั้นจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละที่และจุดประสงค์ของผู้ออกพันธบัตรและผู้ที่จะให้กู้ยืม
พันธบัตรส่วนใหญ่ที่ออกโดยบริษัทเอกชนนั้นมักจะมีทางเลือกให้กับผู้ให้ยืมว่าจะเพิ่มหรือลดมูลค่าของเงินให้กู้ยืมและสามารถนำไปเปรียบเทียบกันได้กับพันธบัตรของผู้ออกพันธบัตรแต่ละรายได้เพื่อที่จะให้ง่ายและเข้าถึงคนทั่วไปได้
เราสามารถซื้อหรือขายพันธบัตรก่อนวันครบกำหนดชำระคืนได้ (แต่อัตราดอกเบี้ยก็จะแตกต่างกันออกไป) และหลายๆพันธบัตรก็มีการเสนอขายโดยทั่วไปและสามารถซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ก็ได้
แล้วทำไมบริษัทหรือรัฐบาลต้องออกพันธบัตรหละ
ก็เพื่อต้องการนำเงินไปลงทุนในโครงการใหม่ๆหรือเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจหรือเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เก่าซึ่งเหล่านี้ก็อาจจะมีการออกพันธบัตรให้กับนักลงทุนโดยตรงเลยก็ได้
อย่างไรก็ดีก่อนที่เราจะซื้อพันธบัตรอะไรก็ตาม ใช่ว่าพอเห็นชื่อบริษัทดูดีใหญ่โตปุ๊บ มีการให้อัตราดอกเบี้ยสูงๆ เราก็ควรจะรีบวิ่งเข้าไปซื้อนะครับ ปกติแล้วจะมีปัจจัยที่ควรจะพิจารณาอยู่หลายปัจจัยด้วยกันก่อนทำการซื้อพันธบัตรอะไรก็ตาม
ปัจจัยที่ว่าก็ ตัวอย่างเช่น Credit Rating จากบริษัทที่เป็นกลางที่มีจุดประสงค์เพื่อทำการจัดอันดับความน่าสนใจของพันธบัตรนั้นๆว่าอยู่ในเกณฑ์สูงต่ำแค่ไหน ซึ่งจะบ่งบอกถึงคุณภาพของผู้ออกพันธบัตรได้ดีระดับหนึ่ง
ระยะเวลาของพันธบัตรจนครบกำหนดชำระ หรืออัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยอื่นๆในช่วงเวลานั้น (เช่นเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยทั่วไป) ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาร่วมกัน
ย้ำกันอีกทีว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราควรต้องพิจารณาก่อนนำเงินอันมีค่าที่หามาอย่างยากลำบากของเราไปซื้อนะครับ
ให้นึกเสมอว่าก่อนจะลงทุนอะไรให้เราเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วนและใจเย็นๆ เหมือนเวลาเราจะซื้อ ทีวี ตู้เย็น พัดลม เครื่องเสียงนั่นแหละครับ
หลายท่านใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆหรือเป็นวันเพื่อเดินหา มองหา หรือค้นหาบนเว็บว่าที่ไหนมีราคาถูกกว่ากันแต่พอเรื่องลงทุนเนี่ยแค่อ่านหนังสือชี้ชวนสักหน่อยก็ยังไม่อยากจะอ่านกันเลย หากเป็นเช่นนั้นเราควรต้องมาปรับทัศนคติกันใหม่นะครับ
หยุดยาวสามวันนี้ก็เช่นเคยพักผ่อนเมื่อมีโอกาสแล้วค่อยออกไปสู้กันใหม่ครับ
อ้างอิง:
https://www.set.or.th/set/companynews.do?symbol=PTTEP&ssoPageId=8&language=th&country=TH
https://www.economist.com/business/2019/04/06/saudi-aramco-made-a-111bn-profit-in-2018
https://www.investopedia.com/terms/b/bond.asp
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.