พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

ประเภทต่างๆของเงินเฟ้อ (types of inflation)

อัตราเงินเฟ้อ (inflation) หรือเงินเฟ้อ หลายๆครั้งเราจะได้ยินคำนี้สั้นๆ และความหมายสั้นๆของมันก็คือ เงินจะมีค่าน้อยลงเมื่อเกิดเงินเฟ้อ ก็คือเงินจำนวนเท่าเดิมจะสามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้วเราอาจจะซื้อนม 5 กล่องด้วยเงิน 100 บาท แต่ปีนี้เงิน 100 บาทเท่าเดิมอาจจะซื้อนมได้ไม่ถึง 5 กล่องแล้ว หรืออาจจะต้องใช้เงินมากกว่า 100 บาท เช่น 102 บาทในการซื้อนมให้ได้ 5 กล่องเท่าเดิม จากตัวอย่างนี้เราก็จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นก็คือ 2% หรือเงินมีค่าน้อยลงไป 2% นั่นเอง

ในโลกแห่งความเป็นจริงเวลาเกิดเงินเฟ้อเราไม่ได้มักจะเห็นการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆในตลาดสินค้าและบริการทั่วไป แต่โดยปกติแล้วประเภทของอัตราเงินเฟ้อหลักๆจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ

  1. Demand-pull inflation หรือเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากฝั่งทางด้านอุปสงค์เป็นตัวดึง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อระบบเศรษฐกิจนั้นมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ระบบนั้นไปเร็วเกินกว่าที่ผลผลิตทางด้านอุปทานจะตามทัน ระดับอุปสงค์โดยรวมของทั้งประเทศ (Aggregate demands) นั้นจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าระดับของอุปทานโดยรวมของทั้งประเทศ (Aggregate supplies) เมื่อระดับของอุปสงค์มีมากกว่าระดับอุปทาน ระดับของราคาสินค้าก็จะปรับตัวขึ้นตาม
  2. Cost-push inflation หรือเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากฝั่งทางด้านอุปทานเป็นตัวผลักดัน ซึ่งเงินเฟ้อประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาของต้นทุนวัตถุดิบ (raw materials) หรือระดับภาษีสูงขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบ หรือระดับของราคาพลังงานหรือน้ำมันดิบที่สูง หรือจะด้วยปัจจัยใดก็ตามที่มีผลต่อต้นทุนในการผลิต ธนาคารของประเทศต่างๆมักจะไม่ค่อยชอบเงินเฟ้อประเภทนี้เพราะเนื่องจากว่ามันยากที่จะจัดการกับมันเนื่องจากเงินเฟ้อประเภทนี้พวกเขาจะพบว่าในระบบเศรษฐกิจนั้นเขาต้องจัดการกับทั้งเงินเฟ้อและผลผลิตที่ลดลง

ในบางสำนักจะมีการแบ่งหมวดหมู่ของประเภทของเงินเฟ้อเพิ่มเติม เช่น disinflation ก็คือการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ creeping inflation ก็คืออัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ต่ำแต่จะค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ walking/moderate inflation คืออัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระหว่าง 2-10% running inflation จะมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ระหว่าง 10-20% และ hyperinlation ที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000% ต่อปีเลยทีเดียว

Wage Push Inflation หรืออัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันทางด้านค่าจ้าง การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างนั้นมักจะส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อด้วย (มิน่าเงินเดือนเราๆถึงขึ้นยากขึ้นเย็นเนาะ) และในเชิงผลลัพธ์แล้วมันเป็นการผสมผสานกันระหว่าง demand-pull และ cost-push inflation

การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างนั้นเป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสำหรับบริษัท และในระยะยาวก็มักจะมีการผลักต้นทุนนี้ต่อไปให้กับผู้บริโภคในรูปแบบของราคาสินค้าที่สูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างนั้นก็จะทำให้ผู้บริโภคนั้นมี disposable income หรือรายได้ที่เหลือใช้จ่ายหลังหักภาษีเพิ่มขึ้นซึ่งก็จะส่งผลให้บริโภคได้มากขึ้นและก็ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในที่สุด

Imported Inflation หรืออัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเสื่อมค่าของสกุลเงินของประเทศนั้นๆ หรือค่าเงินของประเทศเรามีอัตราแลกเปลี่ยนที่แย่ลงนั่นเอง การเสื่อมค่าของอัตราแลกเปลี่ยน หรือฝรั่งเรียก depreciation ของ exchange rate เช่น จาก 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ เป็น 33 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ (ใช้เงินเรามากขึ้นเพื่อให้ได้ 1 เหรียญเท่าเดิม) การนำเข้าสินค้าหรือต้นทุนวัตถุดิบก็ทำให้เราต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อนำเข้า ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตโดยรวมสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในทางกลับกันการส่งออกจะดีขึ้นเนื่องจากสินค้าของเราจะมีราคาถูกลง

Temporary Factors หรือปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ เช่นการเพิ่มขึ้นของภาษีทางอ้อม เช่น หากเรามีการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ชั่วคราว นั้น สินค้าทุกอย่างที่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะมีราคาที่สูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ดีหากมีการบังคับใช้แค่เพียงปีเดียว มันก็จะมีผลกระทบสั้นๆแค่ 1 ปี เช่นกัน ไม่ใช่ผลกระทบในระยะยาว

Core Inflation หรืออัตราเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมสินค้าที่มีราคาค่อนข้างแกว่งตัวสูง เช่น พลังงานและราคาอาหาร เมื่อยกเว้นสินค้าประเภทนี้แล้วเราก็จะเห็นว่าสินค้าตัวอื่นนั้นมีการแกว่งตัวที่จะเสถียรมากกว่าการรวมสินค้าอย่างพลังงานและอาหารเข้าไปด้วย

ทีนี้เวลาเราเห็นข่าวตามโซเชี่ยลมีเดียต่างๆถึงคำว่า ‘เงินเฟ้อ’ เราก็จะเข้าใจมากขึ้นแล้วเนาะว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตเราเช่นกัน ทีนี้อย่างน้อยแล้วเวลาขึ้นเงินเดือนประจำปี เราก็จะได้รู้ว่ามันมากกว่าอัตราเงินเฟ้อหรือไม่!

อ้างอิง:

https://www.investopedia.com/articles/personal-finance/073015/understand-different-types-inflation.asp

Different types of inflation

Leave a Reply