พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Investment

ความสำคัญของมูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียน (Significance of Current Asset Value)

ช่วงนี้ก็เป็นช่วงประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่สองของปีนี้ของบริษัทต่างๆที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นะครับก็จะมีผสมๆกันไปทั้งบริษัทที่มีผลประกอบการออกมาดีและก็ไม่ดีประกอบกับมาตราการรับมือกับสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนที่ยังมีกันออกมาเรื่อยๆจึงมีส่วนยังคงทำให้ SET Index นั้นยังไม่ได้ไปไหนไกลจากสิ้นปีที่แล้วเท่าใดนัก

แม้บรรยากาศการลงทุนโดยทั่วไปอาจจะยังดูไม่สดใสแต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนควรกระทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอนั้นก็คือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทสำหรับหุ้นที่เราให้ความสนใจ โดยตัวเลขนึงที่เราควรให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องเช่นกันก็คือมูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียน (current asset value)

จากหนังสือ Security Analysis 6thEdition ที่เขียนโดยเบนจามินเกรแฮม (Benjamin Graham) นั้นได้บอกไว้ว่ามูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนของหุ้นนั้นอาจมีความสำคัญมากกว่ามูลค่าทางบัญชี (book value) ที่รวมสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (fixed assets) ด้วยซ้ำไป

เกรแฮมอธิบายต่อไปว่ามูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนนั้นสามารถเป็นตัวบ่งชี้คร่าวๆได้ว่าหากบริษัทต้องเลิกล้มกิจการไปบริษัทจะมีมูลค่าเหลือเท่าใดในการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด

หากมีบริษัทใดที่มูลค่าเมื่อเลิกกิจการ (liquidating value) สูงกว่าราคาหุ้นของบริษัทนั้นๆก็ดูจะเป็นหุ้นที่น่าสนใจ (หรือน่าสงสัย) ขึ้นมาทีเดียวซึ่งการที่หุ้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าบริษัทเมื่อเลิกกิจการอยู่เรื่อยๆนั้นก็ดูจะไม่สมเหตุสมสักเท่าไหร่

เกรแฮมบอกว่าความไม่สมเหตุสมผลนี้อาจจะมาจากการที่นักลงทุนในตลาดมองต่างมุมหรือนโยบายของทีมผู้บริหารมีมุมมองต่อทรัพย์สินของบริษัทที่แตกต่างไป

มูลค่าหากเลิกกิจการ หรือเงินที่เจ้าของกิจการควรจะได้รับหากต้องการปิดกิจการไปหรือการแปลงทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เป็นเงินสด มูลค่าทรัพย์สินที่จะได้รับก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง

ในงบดุล (balance sheet) ของบริษัทนั้นไม่สามารถบ่งบอกข้อมูลที่แท้จริงหากมีการปิดกิจการลงได้แต่ก็อาจบ่งบอกอะไรบางอย่างได้

เกรแฮมนำเสนอว่าการที่เราจะหามูลค่าเมื่อเลิกกิจการนั้นให้เราหักหนี้สิ้นทั้งหมดออกตามตัวเลขที่เห็นในงบดุลก่อนแต่ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดนั้น(total assets) ไม่ได้เป็นไปตามที่เห็นซึ่งมูลค่าทรัพย์สินนั้นก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะของทรัพย์สินที่มีอยู่ (ว่าง่ายๆก็คือให้เชื่อว่าหนี้เป็นของจริงในขณะที่ทรัพย์สินนั้นมีค่าน้อยกว่าที่เห็นในงบดุล)

โดยเกรแฮมให้หลักการประเมินมูลค่าเป็นช่วงไว้ว่า

เงินสดให้ประเมินตามนั้น

เงินรับลูกหนี้การค้าและลูกหนี้หมุนเวียนอื่น (receivables) ให้หักออก 10-25%

สินค้าคงเหลือ (inventories) ให้หักออก 25-50%

ที่ดิน ตึก เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน และอื่นๆ ให้หักมูลค่าออก 50-99% ไปเลย

ซึ่งเมื่อเรานำทรัพย์สินทั้งหมดมาหักด้วยหนี้สินทั้งหมดแล้วนำทรัพย์สินที่ได้มาหักมูลค่าออกตามแต่ละประเภททรัพย์สินอีกทีเราก็จะได้มูลค่าที่เหลืออยู่เป็นมูลค่าสำหรับกรณีหากเลิกกิจการ

เมื่อเรานำมูลค่าที่เหลือท้ายสุดนั้นไปเทียบกับราคาหุ้น หากพบว่าราคาหุ้นมีราคาต่ำกว่าอย่างสม่ำเสมอ เกรแฮมบอกว่ามันก็เป็นได้ว่าราคาหุ้นนั้นต่ำเกินไปหรือว่าบริษัทนั้นควรปิดกิจการและนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดจริงๆ

จากหลักการนี้เกรแฮมได้กล่าวไว้ว่าราคาหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าหากปิดกิจการนี้มีไปเรื่อยๆมันควรผลักดันให้ผู้ถือหุ้นตั้งคำถามว่ามันจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่จะทำธุรกิจต่อไป

หรือราคาหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้นควรผลักดันให้ผู้ถือหุ้นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อลดช่องว่างระหว่างราคาหุ้นและมูลค่าที่แท้จริงให้เหลือน้อยที่สุดรวมไปถึงการพิจารณานโยบายหรือการพิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจนั้นควรดำเนินต่อไปหรือไม่

เห็นมั้ยครับว่าเหนื่อยทีเดียวกว่าจะมาถึงตรงนี้และก็ไม่ง่ายเลยที่จะหามูลค่าของบริษัทและราคาที่เหมาะสมได้ง่ายๆ

นี่เพียงแค่ตัวเลขเดียวนะครับ การวิเคราะห์เบื้องลึกนั้นมีตัวเลขอื่นที่เกี่ยวข้อง และมิติในการมองที่มากกว่านี้มาก มันต้องมาจากการทำงานหนัก ความพยายาม ความอดทนที่จะศึกษามูลค่าของบริษัทอย่างจริงจัง

ไม่ใช่ว่าไปฟังจากข่าวโคมลอยที่ไหนหรือแม้แต่จากคนรอบตัวเองก็ตาม เราต้องศึกษาหาข้อมูลเอง รับความเสี่ยงเองและตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเองเท่านั้นครับจึงจะได้เรียกตัวเองว่าเป็นนักลงทุน (ไม่ใช่นักเก็งกำไร) ได้อย่างแท้จริง

หยุดยาว3 วันนี้ก็ขอให้ทุกท่านพักเรื่องการลงทุนและใช้เวลาอยู่กับครอบครัวปราศจากความกังวลจากการลงทุน(หรือเก็งกำไร) ที่มีความเสี่ยงไม่สมเหตุสมผลครับ

 

อ้างอิง:

Security Analysis 6thedition.

 

 

 

 

Blenlit

Hakwarmroo.com

Leave a Reply