คำว่า ‘หนี้’ หรือ ‘debt’ คำนี้อาจจะฟังดูบาดใจสำหรับใครหลายๆคน แต่มันก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกคนในสังคมเศรษฐกิจแบบตลาดแบบนี้ และในภาวะโควิด19 แบบนี้ หลายๆบริษัทก็มีความจำเป็นต้องควบคุมกระแสเงินสด (cashflow) ในบริษัทเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมในบริษัทหรือแม้แต่นำเงินไปใช้หนี้ที่ครบกำหนดชำระเช่นกัน
สำหรับบริษัทหรือแม้แต่บุคคลที่ประสพภาวะรายได้หดหายเนื่องมากจากโควิด19 และประสพกับกระแสเงินสดขาดมือ หรือก็คือหมุนเงินไม่ทันนั่นแหละ การปรับโครงสร้างหนี้หรือ debt restructuring ก็อาจจะต้องเข้ามามีบทบาทบ้างเพื่อพยุงให้บริษัทหรือตัวเราเองดำเนินชีวิตกันต่อไปได้
การปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร?
การปรับโครงสร้างหนี้ก็คือขั้นตอนที่บริษัทใช้เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสการหลุดชำระหนี้ (default) เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้นั่นเองจากหนี้ที่มีอยู่หรือพยายามลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้มีโอกาสต่อท่อหายใจ ในระดับบุคคลก็ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ของตัวเองเช่นกันเหมือนๆกับระดับประเทศที่กำลังดำเนินไปในทิศทางที่มีโอกาสเกิดการที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้
ขั้นตอนการปรับโครงสร้างหนี้นั้นเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่มีอยู่หรือขอเลื่อนวันครบกำหนดชำระหนี้ออกไปจากเดิมสำหรับหนี้ที่บริษัทถึงกำหนดชำระ
การปรับโครงสร้างหนี้นั้นอาจจะใช้วิธีการนำการถือหุ้นในบริษัท (equity) ที่มีอยู่ไปแลกกับหนี้ (debt-for-equity swap) ก็คือเจ้าหนี้ตกลงที่จะให้ลูกหนี้นั้นยกเลิกหนี้ทั้งหมดหรือลดจำนวนหนี้บางส่วนเพื่อแลกกับความเป็นเจ้าของบริษัทที่ลูกหนี้ยินยอมนำมาปลดหนี้ ซึ่งวิธีนี้เจ้าหนี้ก็จะได้สิทธิเข้าครอบครองบริษัทนั้นด้วย หากเป็นระดับบุคคลก็อาจจะต้องขายทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อนำไปแลกหนี้หรือลดภาระหนี้นั่นเอง
ส่วนในระดับประเทศนั้นการปรับโครงสร้างนี้ก็อาจจะมีการย้ายก้อนหนี้จากภาคเอกชน (private sector) ไปไว้ที่สถาบันต่างๆของภาครัฐแทน (public sector institution)
บริษัทบางบริษัทจะมองหาโอกาสการปรับโครงสร้างหนี้ของตัวเองเมื่อบริษัทมีโอกาสที่จะเกิดอาการล้มละลายได้หากไม่ทำอะไร (bankruptcy) บริษัทอาจจะปรับโครงสร้างหนี้หลายๆก้อนที่อาจจะมีความสำคัญรองลงมาจากยอดหนี้หลักที่สำคัญ
การจ่ายหนี้ก็จะมีลำดับของการจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้เช่นกัน หนี้ที่มีสิทธิได้รับการชำระก่อนหรือหนี้ที่ถึงกำหนดชำระก่อนก็จะได้สิทธิที่จะได้รับการชำระก่อนหนี้ย่อยๆที่สำคัญลองลงมาหากบริษัทมีการยื่นเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เจ้าหนี้นั้นบางครั้งก็อาจจะยอมที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้เพื่อให้บริษัทไม่ต้องล้มละลายหรือผิดนัดชำระหนี้
ขั้นตอนการปรับโครงสร้างหนี้นั้นโดยทั่วไปแล้วมักจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มี การขอขยายเวลากำหนดการชำระหนี้ หรือทั้งสองอย่างเลย ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสของบริษัทที่จะสามารถชำระหนี้ต่างๆที่มีได้ เจ้าหนี้นั้นอาจจะเข้าใจว่าตัวเองจะได้รับเงินกลับมาน้อยกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยหรือการขยายเวลาชำระหนี้ก็ได้หากบริษัทนั้นถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการล้มลายหรือแม้แต่ต้องขายทรัพย์สินบริษัทออกมาชำระหนี้แทน
การปรับโครงสร้างหนี้นั้นสามารถที่จะส่งผลดีต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เพราะบริษัทยังคงไม่ล้มละลายและยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และโดยทั่วไปแล้วเจ้าหนี้ก็มักจะได้รับชำระหนี้กลับมามากกว่าหากปล่อยให้บริษัทมีการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายจริงๆ
ประเภทของการปรับโครงสร้างหนี้
จากที่กล่าวไปข้างต้น การปรับโครงสร้างหนี้นั้นก็อาจจะใช้หุ้นในบริษัทนำไปแลกหนี้ โดยเจ้าหนี้ยอมรับหุ้นของบริษัทจากลูกหนี้เพื่อแลกกับก้อนหนี้ที่มีอยู่บางส่วนหรือจะทั้งหมดก็ตาม การแลกเปลี่ยนหรือ swap แบบนี้มักจะเป็นทางเลือกที่ชอบใช้กันเมื่อยอดหนี้และหุ้นบริษัที่จะนำมาแลกนั้นมีมากและหากปล่อยให้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายก็จะไม่ได้มีผลดีอะไร ดังนั้นเจ้าหนี้ก็เข้าครอบครองบริษัทนั้นดีกว่าแทนที่จะปล่อยล้มละลาย
บริษัทที่มองหาโอกาสปรับโครงสร้างหนี้นั้นอาจจะมีการขอต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อ ขอลดจำนวนหนี้ ภาษาฝรั่งเรียก ‘take a haircut’ ก็คือขอลดดอกเบี้ยตรงๆนี่แหละ หรือแม้แต่ขอลดก้อนหนี้บางส่วนออกไปเลย เพื่อจะได้จ่ายหนี้ที่น้อยลง
การทดแทนหนี้เก่าด้วยหนี้ใหม่ที่ดอกเบี้ย(ควรจะต่ำกว่าเดิม) ก็เป็นอีกวิธีนึงเช่นกันที่จะปรับโครงสร้างได้ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ‘refinancing’ หากหนี้ใหม่ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิมก็จะช่วยลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ด้วยเช่นกัน หรืออย่างน้อยก็มีการเลื่อนชำระหนี้ออกไปจากเดิมได้อีก
ต้นทุนหลักที่จะเข้ามาข้องเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้นั้นก็จะคือ เวลาและความพยายามที่จะต้องใช้ไปในการต่อรองเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลาย กับธนาคาร กับ supplier ต่างๆ
ข้อตกลงการจ่ายคืนหนี้อย่างไม่เป็นทางการ
ลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนทั้งจำนวน ก็อาจจะมีการขอต่อรองการจ่ายหนี้เป็นงวดๆไปก็ได้ ขั้นตอนนี้อาจจะไม่เป็นทางการแต่ว่าจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าและเร็วกว่าการที่จะฟ้องร้องกันไปตามขั้นตอนที่ศาล
คำว่า ‘หนี้’ ก็คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่มันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีระบบที่ดีกว่าเข้ามาทดแทนในอนาคตที่จะสามารถทำให้บริษัทและบุคคลหรือแม้แต่ประเทศดำเนินเศรษฐกิจได้ดีพอและสามารถควบคุมยอดหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้และไม่เป็นอันตรายจนเกินไป
สิ่งนึงที่จะช่วยให้สามารถควบคุมหนี้ได้ก็คือบริษัทควรต้องมีระเบียบวินัยในการใช้จ่าย ไม่กู้หนี้ยืมสิน ง่ายจนเกินไป ไม่ขยายธุรกิจจนเกินความสามารถที่บริษัทที่จะชำระได้ แม้ถึงกระนั้นก็คงไม่มีใครคิดว่าปีนี้จะมีโรคอย่างโควิด 19 มาแพร่กระจายทำให้ทุกๆคนในรับผลกระทบไปด้วย
ก็คงต้อง ‘อดทน’ และใช้จ่ายอย่างประหยัดและมีสติในการดำรงชีวิตกันต่อไปครับ กว่าจะกลับสู่ชีวิตปกติได้ (หากมันจะกลับไปได้) ก็คงต้องเห็นก่อนละครับว่าวัคซีนโควิด 19 เนี่ยจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน
อ้างอิง:
https://www.bangkokpost.com/business/1991883/lenders-to-speed-debt-restructuring
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.